วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ทีมวิจัย

ทีมวิจัยท้องถิ่นเป็นใคร มีที่มาอย่างไร มีใครบ้าง และทำโครงการครั้งนี้จะได้ประโยชน์อะไร ? เป็นคำถามที่หลายคนอยากรู้คำตอบ เพราะเป็นคำถามที่สำคัญมาก เพราะถ้าเราตอบได้ดีและทำให้ชาวบ้านเข้าใจก็อาจทำให้เกิดสิ่งดีดีขึ้นมาได้ แต่ถ้าหากตอบได้ไม่ชัดเจนทำให้ชาวบ้านไม่เข้าใจ ก็อาจส่งผลทำให้เกิดความไม่เข้าใจและเคลือบแคลงสงสัยในสิ่งที่ทีมวิจัยกำลังดำเนินการอยู่ได้ อย่าว่าแต่ความร่วมมือเลยแม้แต่การพูดคุยก็คงเป็นเรื่องที่ลำบากไม่น้อย การตอบคำถามดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่เราต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง แต่หากให้เราตอบในที่นี้ เราขอสรุปสั้น ๆ ให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า ทีมวิจัยก็คือผู้ที่เป็นสมาชิกและอาศัยอยู่ในชุมชนบางเลียบ ซึ่งหลายคนเกิดที่นี่แต่ก็มีบางคนที่ไม่ได้เกิดที่นี่ แต่ย้ายเข้าอาศัยอยู่ในชุมชนตั้งแต่เด็ก ๆ ทำให้เกิดความรักความผูกพันธ์กับพื้นที่ และเมื่อมีโอกาสก็อยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนตนเองจึงมีการรวมตัวกันขึ้นเป็นทีมวิจัยท้องถิ่น มีสมาชิกจำนวน 7 คน (รายละเอียดทีมวิจัยจะแจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไป) โดยมีที่มาจากการที่ได้มีโอกาสในการทำงานอาสาสมัครในชุมชน เช่น บางคนเป็น อสม. บางคนเป็นกรรมการกองทุนหมู่บ้าน บางคนเป็นคณะกรรมการโครงการพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านและชุมชน(SML) เป็นต้น ทำให้มีโอกาสได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ทำให้รู้จักกันมากขึ้นเกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และได้มีการพยายามร่วมกันที่จะค้นหาวิธีการ/กระบวนการพัฒนาหรือแก้ปัญหาของชุมชนบางเลียบอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งได้มีโอกาสได้รู้จักเกี่ยวกับการวิจัยท้องถิ่นซึ่งคิดว่าเป็นวิธีการที่ดี จึงได้พยายามผลักดันให้เกิดโครงการนี้ขึ้น
การทำวิจัยครั้งนี้ทีมวิจัยจะได้ประโยชน์อะไร ? เป็นคำถามอันดับต้น ๆ ที่เราคิดว่าสำคัญ เพราะในสภาพสังคมที่มีแต่การแก่งแย่งแข่งขัน การแย่งชิงผลประโยชน์ การเอารัดเอาเปรียบ ทำให้หลายคนไม่ไว้ใจใครง่าย ๆ และมีข้อสงสัยในสิ่งที่ทีมวิจัยกำลังกระทำ และอาจสงสัยถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ทีมวิจัยอาจได้รับ ซึ่งเราคิดว่าไม่ใช่สิ่งผิดที่หลายคนจะคิดเช่นนั้น แต่เราอยากบอกกับทุกคนว่า ทีมวิจัยท้องถิ่นชุมชนบางเลียบทีมนี้ก็มีการตั้งคำถามนี้มาตั้งแต่แรกที่คิดจะทำโครงการนี้กันมาก่อน ซึ่งเราก็พยายามที่จะตอบคำถามดังกล่าวกันหลายครั้ง ซึ่งเราขอสรุปสั้น ๆ ว่า ประโยชน์ที่ทีมวิจัยจะได้รับ คือ การที่เราจะมีชุมชนที่ดี สมาชิกในชุมชนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ช่วยเหลือกัน ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความสามารถในการเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ อย่างรู้เท่าทัน และที่สำคัญคือการมีจิตสำนึกสาธารณะ เพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้หากเกิดขึ้นจริง จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเราทุกคนรวมทั้งทีมวิจัยด้วย เพราะสิ่งดีดีนั้นเป็นสิ่งที่เราอยากให้เกิดและมีขึ้นกับเราทุกคน แต่ในความเป็นจริงจะเกิดขึ้นได้ดีแค่ไหน ผู้ที่จะให้คำตอบคงไม่ใช่ทีมวิจัย หากแต่เป็นสมาชิกในชุมชนบางเลียบทุกคนที่จะร่วมกันให้กับตอบต่อคำถามนี้ได้ เพราะการจะตอบคำถามทุกคำถามได้ดีที่สุดนั้นก็คือการกระทำที่เห็นเป็นรูปธรรม และนั่นคือการตอบคำถามข้างต้นนั้นได้ดีที่สุดโดยที่ไม่ต้องสรรหาคำพูดใดมาขยายความเลย