วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ทีมวิจัย

ทีมวิจัยท้องถิ่นเป็นใคร มีที่มาอย่างไร มีใครบ้าง และทำโครงการครั้งนี้จะได้ประโยชน์อะไร ? เป็นคำถามที่หลายคนอยากรู้คำตอบ เพราะเป็นคำถามที่สำคัญมาก เพราะถ้าเราตอบได้ดีและทำให้ชาวบ้านเข้าใจก็อาจทำให้เกิดสิ่งดีดีขึ้นมาได้ แต่ถ้าหากตอบได้ไม่ชัดเจนทำให้ชาวบ้านไม่เข้าใจ ก็อาจส่งผลทำให้เกิดความไม่เข้าใจและเคลือบแคลงสงสัยในสิ่งที่ทีมวิจัยกำลังดำเนินการอยู่ได้ อย่าว่าแต่ความร่วมมือเลยแม้แต่การพูดคุยก็คงเป็นเรื่องที่ลำบากไม่น้อย การตอบคำถามดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่เราต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง แต่หากให้เราตอบในที่นี้ เราขอสรุปสั้น ๆ ให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า ทีมวิจัยก็คือผู้ที่เป็นสมาชิกและอาศัยอยู่ในชุมชนบางเลียบ ซึ่งหลายคนเกิดที่นี่แต่ก็มีบางคนที่ไม่ได้เกิดที่นี่ แต่ย้ายเข้าอาศัยอยู่ในชุมชนตั้งแต่เด็ก ๆ ทำให้เกิดความรักความผูกพันธ์กับพื้นที่ และเมื่อมีโอกาสก็อยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนตนเองจึงมีการรวมตัวกันขึ้นเป็นทีมวิจัยท้องถิ่น มีสมาชิกจำนวน 7 คน (รายละเอียดทีมวิจัยจะแจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไป) โดยมีที่มาจากการที่ได้มีโอกาสในการทำงานอาสาสมัครในชุมชน เช่น บางคนเป็น อสม. บางคนเป็นกรรมการกองทุนหมู่บ้าน บางคนเป็นคณะกรรมการโครงการพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านและชุมชน(SML) เป็นต้น ทำให้มีโอกาสได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ทำให้รู้จักกันมากขึ้นเกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และได้มีการพยายามร่วมกันที่จะค้นหาวิธีการ/กระบวนการพัฒนาหรือแก้ปัญหาของชุมชนบางเลียบอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งได้มีโอกาสได้รู้จักเกี่ยวกับการวิจัยท้องถิ่นซึ่งคิดว่าเป็นวิธีการที่ดี จึงได้พยายามผลักดันให้เกิดโครงการนี้ขึ้น
การทำวิจัยครั้งนี้ทีมวิจัยจะได้ประโยชน์อะไร ? เป็นคำถามอันดับต้น ๆ ที่เราคิดว่าสำคัญ เพราะในสภาพสังคมที่มีแต่การแก่งแย่งแข่งขัน การแย่งชิงผลประโยชน์ การเอารัดเอาเปรียบ ทำให้หลายคนไม่ไว้ใจใครง่าย ๆ และมีข้อสงสัยในสิ่งที่ทีมวิจัยกำลังกระทำ และอาจสงสัยถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ทีมวิจัยอาจได้รับ ซึ่งเราคิดว่าไม่ใช่สิ่งผิดที่หลายคนจะคิดเช่นนั้น แต่เราอยากบอกกับทุกคนว่า ทีมวิจัยท้องถิ่นชุมชนบางเลียบทีมนี้ก็มีการตั้งคำถามนี้มาตั้งแต่แรกที่คิดจะทำโครงการนี้กันมาก่อน ซึ่งเราก็พยายามที่จะตอบคำถามดังกล่าวกันหลายครั้ง ซึ่งเราขอสรุปสั้น ๆ ว่า ประโยชน์ที่ทีมวิจัยจะได้รับ คือ การที่เราจะมีชุมชนที่ดี สมาชิกในชุมชนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ช่วยเหลือกัน ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความสามารถในการเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ อย่างรู้เท่าทัน และที่สำคัญคือการมีจิตสำนึกสาธารณะ เพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้หากเกิดขึ้นจริง จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเราทุกคนรวมทั้งทีมวิจัยด้วย เพราะสิ่งดีดีนั้นเป็นสิ่งที่เราอยากให้เกิดและมีขึ้นกับเราทุกคน แต่ในความเป็นจริงจะเกิดขึ้นได้ดีแค่ไหน ผู้ที่จะให้คำตอบคงไม่ใช่ทีมวิจัย หากแต่เป็นสมาชิกในชุมชนบางเลียบทุกคนที่จะร่วมกันให้กับตอบต่อคำถามนี้ได้ เพราะการจะตอบคำถามทุกคำถามได้ดีที่สุดนั้นก็คือการกระทำที่เห็นเป็นรูปธรรม และนั่นคือการตอบคำถามข้างต้นนั้นได้ดีที่สุดโดยที่ไม่ต้องสรรหาคำพูดใดมาขยายความเลย

วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

การวิจัยท้องถิ่น

การวิจัยท้องถิ่นครั้งนี้ เริ่มต้นจากกาีรที่หัวหน้าทีมวิจัยได้มีโอกาสทำงานกับคนที่ทำงานอาสาสมัครในหมู่บ้านก่อน คือ คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 จากการที่เข้าเป็นสมาชิกกองทุนจนได้เข้าไปเป็นคณะกรรมการโดยทำหน้าที่เหรัญญิกกองทุนหมู่บ้าน ทำให้ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นมาของกองทุน การดำเนินงาน สภาพปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และได้มีโอกาสไปได้ร่่วมประชุ่มประชุมคณะกรรมการเครือข่ายกองทุนระดับอำเภอหลายครั้ง ทำให้รู้จักคนที่ทำงานอาสาสมัครทางด้านนี้มากขึ้น หัวหน้าทีมวิจัยได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของคนทีำงานกองทุน เพราะไม่ใช่เรื่องของกองทุนอย่างเดี่ยวแต่เป็นเรื่องของบุคคลที่มีใจที่เสียสละทำงานเพื่อสังคมและชุมชนของตนเองโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใดใด ทำให้หัวหน้าทีมวิจัยเกิดความประทับใจและอยากมีส่วนร่วมในการพัฒนางานพัฒนาชุมชนในหมู่บ้านให้ดีขึ้น
จนเมื่อเดือนกันยายน 2551 หัวหน้าทีมวิจัยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำอาสาสมัครพัฒนาชุมชนระดับหมู่บ้านและระดับตำบล ซึ่งเป็นการสืบทอดตำแหน่งจากคุณแม่ปทุมทิพย์ ปทุมรัตน์วรกุล ที่ดำรงตำแหน่งนี้มากว่า 2 สมัย หรือระยะเวลารวม 4 ปี ซึ่งท่านก็ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำงานพัฒนาชุมชนเป็นอย่างดี
เมื่อหัวหน้าทีมวิจัยได้ใช้ระยะเวลาพอสมควรจากจุดเริ่มต้นที่เข้าร่วมกับการพัฒนาชุมชน จึงได้ผลักดันให้เกิดโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ซึ่งเป็นโครงการที่เราคิดว่าดีและน่าจะเป็นประโยชน์กับหมู่้บ้านหรือชุมชนของเรา เพราะมีโอกาสได้รู้จักโครงการดังกล่าว ตั้งแต่สมัยเรียนจบใหม่และได้มีโอกาสไปศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาชุมชนที่พื้นที่ทางภาคเหนือ และได้รับคำแนะนำจากกัลญานิมิตรที่ดีหลายคน ซึ่งต้องขอขอบคุณไว้ ณ โอกาาสนี้ จากการศึกษาดังกล่าวทำให้เราเรียนรู้และเข้าใจมากขึ้น และเคยตั้งใจไว้ว่าสักวันถ้ามีโอกาสจะผลักดันให้เกิดขึ้นที่หมู่บ้านของเราให้ได้ จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 8 ปี จึงได้เกิดขึ้น แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ยาวนาน แต่คิดว่าคงไม่สายหากนำมาซึ่งสิ่งดีดีในหมู่บ้านของเรา
เมื่อหัวหน้าทีมวิจัยตัดสินใจว่าจะทำโครงการดังกล่าวแล้ว ก็ลงมือเลย แต่ก็ไม่ง่ายนักเพราะต้องใช้เวลามาพอสมควร จากแรกที่ได้ส่งโครงการเข้าไปที่ศูนย์ประสานงานวิจัยท้องถิ่น ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนได้รับอนุมัติโครงการมานั้นต้องใช้เวลากว่า 10 เดือนกว่า โดยมีขั้นตอนการพัฒนาโครงการซึ่งมีรายละเอียดมากไว้จะกล่าวถึงในโอกาสต่อไป เมื่อโครงการได้รับการอนุมัติเราก็เริ่มลงมือทำทันทีซึ่งตอนนี้เป็นช่วงของการสำรวจและหาแนวร่วม ซึ่งจะเกิดผลอย่างไรคงได้มีโอกาสเล่าสู่กันฟังอีกครั้งครับ

วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ทำไมต้องวิจัย

เมื่อได้ลงพื้นที่วิจัยจริงแล้วได้มีคำถามเกิดขึ้นมากมายว่า ทำไมต้องวิจัย ? การวิจัยท้องถิ่นเป็นอย่างไร ? มีความสำคัญอย่างไร ? และจะได้ประโยชน์อะไร ? และใครได้ประโยชน์ ? ซึ่งการตอบคำถามข้างต้นนั้น ถ้าตอนนี้จะตอบก็คงตอบได้โดยการรวบรวมคำจำกัดความของผู้รู้หลาย ๆ ท่านที่ได้ให้ไว้นำมาตอบ แต่เราคิดว่าถ้าทำแบบนั้นก็คงสร้างความเข้าใจให้กับผู้ตั้งคำถามได้ในระดับหนึ่ง แต่ตัวทีมวิจัยเองก็ยังไม่มั่นใจว่าคำตอบที่ตอบไปนั้นถูกต้องมั้ย หรือเป็นความเข้าใจเอาเองว่าเป็นอย่างนั้น ดังนั้นเราจึงคิดกันว่าเราต้องลงมือปฏิบัติจริงกันก่อน จึงจะทำให้เราสามารถตอบคำถามได้ชัดเจนมากขึ้น เพราะแม้เราจะมีการศึกษาโดยการอ่านหรือการดูงานเกี่ยวกับการวิจัยท้องถิ่นมาพอสมควร แต่หากเราไม่เคยลงมือปฏิบัติเลยเราก็คงไม่วันเข้าใจได้อย่างแท้จริง (แม้หัวหน้าทีมวิจัยจะเคยทำงานวิจัยมาบ้างแล้วแต่ก็เป็นการวิจัยแบบธรรมดา) คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง ซึ่งคงจะทำให้เราตอบคำถามข้างต้นได้
การดำเนินการโครงการวิจัยช่วงนี้ก็เป็นช่วงของการสำรวจชุมชน ซึ่งสมาชิกในชุมชนหลาย ๆ ท่านก็ให้ความความร่วมมือเป็นอย่างดี แม้จะมีอุปสรรคบ้างแต่ก็แก้ไขกันได้ดี เราเชื่อว่าการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการเรียนรู้จากการกระทำ ดังนั้นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นในอนาคตจะทำให้เราเก่งขึ้น การสำรวจชุมชนเป็นกิจกรรมที่สำคัญเพราะนอกจากจะทำให้เราได้ข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนแล้ว ยังเป็นกิจกรรมที่ทำให้เราได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับสมาชิกในชุมชน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของชุมชน เพราะเราคิดว่าข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้มานั้นจะไม่มีความหมายอะไรเลย หากเราได้แต่ข้อมูลข้อเท็จจริง แต่ขาดซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในชุมชน ดังนั้นการทำงานช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่สำคัญมาก เราจึงต้องทำงานกันด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง และหวังว่าต่อไปก็จะได้รับความร่วมมือจากสมาชิกชุมชนบางเลียบด้วยดี เพราะถ้ามันจะมีสิ่งดีดีเกิดขึ้นนั้นก็จะไม่ได้อยู่ที่คนใดคนหนึ่งหากแต่อยู่กับสมาชิกในชุมชนทุกคนนั่นเอง

วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ชุมชนบางเลียบ

ชุมชนบางเลียบเป็นชุมชนหนึ่งที่ได้รับผลจากการพัฒนาประเทศ ตามนโยบายที่มุ่งส่งเสริมและสร้างความเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างและส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในชุมชน ทำให้ปัจจุบันชุมชนมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาความขัดแย้ง ปัญหาหนี้สิน เป็นต้น แม้จะมีการพยายามแก้ไขปัญหาต่าง ๆ จากภาครัฐแต่ก็ไม่เป็นผลทำที่ควรและอาจทำให้เกิดปัญหามากขึ้นกว่าเดิม
จากสภาพปัญหาดังกล่าวจึงมีสมาชิกชุมชนกลุ่มหนึ่งที่มีความตั้งใจดีที่อยากมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา จึงได้รวมตัวกันและพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน พร้อมทั้งได้ทบทวนสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน ก็พบว่าสภาพปัญหาต่าง ๆ นั้นส่วนใหญ่มาจากผลกระทบจากการกระทำภายนอกเป็นหลัก ซึ่งประกอบกับภายในชุมชนก็ไม่มีภูมิคุ้มกันที่ดีเพียงพอจึงทำให้เกิดความไม่สมดุลขึ้น จึงทำให้เกิดปัญหามากมาย จึงคิดกันว่าเราควรต้องมีการทำอะไรสักอย่างเพื่อแสวงหาแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมกับชุมชนของเรา เป็นคำถามที่ทุกคนช่วยกันตั้งขึ้น แต่ยังไม่รู้ว่าจะหาคำตอบได้อย่างไร แต่โชคดีที่เราได้มีโอกาสได้รู้จักสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย หรือ สกว. ฝ่ายวิจัยท้องถิ่น ซึ่งมีการสนับสนุนให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยทั้งในส่วนของกระบวนการและผลของการวิจัย มุ่งเน้นให้ชุมชนทำงานวิจัย ซึ่งเรียกว่าว่า การวิจัยท้องถิ่น เป็นรูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Paticipatory Action Research) เพื่อให้สมาชิกชุมชนทำวิจัยเพื่อหาตั้งคำถามและหาคำตอบด้วยตัวเอง เราจึงได้เสนอโครงการเข้าไปที่สำนักงานดังกล่าว ตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2551
เมื่อเสนอโครงการเข้าไปที่ สกว. แล้วนั้น ก็ได้มีพี่เลี้ยงซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของ สกว. มาให้คำแนะนำและคำปรึกษาในการจัดทำโครงการดังกล่าว รวมทั้งมีการประชุมเพื่อเป็นเวทีให้พวกเราได้แสดงความคิดเห็นในการแสวงหาแนวทางการวิจัยที่เหมาะสมกับชุมชน ซึ่งแรกเริ่มนั้นก็มีทีมงานแค่ 4 คน และบางครั้งเราอาจต้องเว้นช่วงบ้าง เพราะแต่ละคนก็มีภารกิจของตนเอง จนต่อมาเราก็ได้สมาชิกเพิ่มเรื่อย ๆ และมีการประชุมกันมากขึ้น จนในที่สุดเราก็ได้สรุปและเสนอโครงการกับ สกว. แต่เราต้องเสนอถึง 2 ครั้ง จึงได้รับการอนุมัติ โดยขณะนี้อยู่ในช่วงดำเนินการเก็บข้อมูลและสำรวจชุมชน
โครงการวิจัยท้องถิ่นครั้งนี้ เป็นความพยายามของสมาชิกในชุมชนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการเห็นสิ่งดีดีเกิดขึ้นในชุมชน ซึ่งไม่รู้ว่าจะทำได้ดีหรือได้ผลแค่ไหนหรืออย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการเรียนรู้ ซึ่งที่ผ่านมานั้นเราก็ได้เรียนรู้จากทีมวิจัยด้วยกันมาก เพราะพวกเรากว่าจะรวมตัวกันได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่ละคนก็มีพื้นฐานและประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป ทำให้มีปัญหาบ้าง แต่พวกเราก็ผ่านไปได้ด้วยดี และทำให้เราเรียนรู้กันและเข้าใจกันมากขึ้น และหวังว่าสิ่งดีดีที่เกิดขึ้นกับพวกเรานั้นก็จะเกิดขึ้นกับสมาชิกในชุมชนบางเลียบด้วยเช่นกัน